วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นิยามคำว่า “ครู” 2

         นิยามคำว่าครู
      ครู  คือ ผู้ให้ ผู้เติมเต็ม และผู้มีเมตตา
ครู  คือ  ผู้ให้...ครูย่อมอยู่ในฐานะของผู้ให้มิใช่ผู้รับ มือของครูจึงเป็นมือบน มิใช่มือล่าง เป็นมือที่ประเสริฐและมี
เกียรติ  ครูให้อะไรแก่ศิษย์
            1) ให้ความรู้  ความรู้ที่จะยังประโยชน์แก่ศิษย์ในฐานะผู้รับ และแก่ตัวครูเองในฐานะผู้ให้ ทั้งในดุนยา และอาคิเราะฮ  ความรู้ที่ครูได้ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ คือความรู้ที่ยังประโยชน์ เมื่อศิษย์ได้รับประโยชน์จากความรู้  อัลลอฮจึงให้ประโยชน์ดังกล่าวเป็นอานิสงส์ แก่ครูเช่นเดียวกัน
            2) ให้โอกาส  ครูต้องให้โอกาสศิษย์เสมอในการศึกษาเล่าเรียน เพราะการศึกษาเล่าเรียนไม่มีคำว่าสาย เมื่อโอกาส และจังหวะของชีวิตแต่ละคน อัลลอฮทรงกำหนดให้ไม่เหมือนกัน ครูจึงไม่ควรปิดกั้นโอกาสของศิษย์ ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ
            3) ให้ความคิด  นอกจากความรู้ที่ครูจะต้องถ่ายทอดให้แก่ศิษย์โดยไม่ปิดบังแล้ว ครูจะต้องให้ความคิดแก่ศิษย์ด้วย คือให้ศิษย์คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น รวมทั้งสามารถนำความรู้ไปขยายต่อ หรือนำไปประยุกต์ใช้ในภาวะต่างๆได้ ครูจึงไม่ใช่ครูสอนหนังสือ แต่เป็น ครูสอนคนและสอนคนให้เป็นมนุษย์ ที่ได้รับการพัฒนา
            4) ให้ชีวิต  ครูเป็นผู้ให้ชีวิต ในที่นี้หมายถึง ให้จิตวิญญาณ และอุดมการณ์ ซึ่งเป็นสารัดถะสำคัญของชีวิต นักเรียน นักศึกษาหลายคนที่ประสบความสำเร็จอันเนื่องมาจากมีครูที่ให้อุดมการณ์ และให้จิตวิญญาณแก่ศิษย์ จนสามารถยึดเป็นหลักในการต่อสู้ และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆของชีวิตได้
            5) ให้กำลังใจ  ครูต้องเป็นผู้ให้กำลังใจศิษย์ โดยเฉพาะเมื่อศิษย์เกิดความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ หรือหมดหวัง การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่ครูไม่ควรมองข้าม กำลังใจเปรียบเหมือนยาหอมที่ชโลมใจให้รู้สึกสดชื่นอยู่เสมอ ศิษย์หลายคนที่เคยท้อแท้ในชีวิต แต่เมื่อได้กำลังใจจากครูก็กลับฮึดสู้จนประสบความสำเร็จได้
            6) ให้อภัย  ครูต้องให้อภัยศิษย์เสมอ ไม่ว่าศิษย์จะทำความผิดมากน้อยเพียงใด การให้อภัยเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งของผู้ที่เป็นครู หากครูเป็นพ่อ ลูกศิษย์ก็คือลูก เมื่อลูกทำอะไรที่ผิดพลาด พ่อควรว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเอ็นดู ควรให้อภัย และให้โอกาส


 
            ครู  คือ  ผู้เติมเต็ม...ครูเติมเต็มอะไรให้กับศิษย์
            1) เติมเต็มความรู้  หมายถึง เติมเต็มความรู้ที่ศิษย์ไม่เคยรู้มาก่อน หรือ เคยรู้มาอย่างผิดๆ หรืออย่างขาดๆ เกินๆ ครูต้องเป็นผู้เติมเต็มส่วนนี้ให้แก่ศิษย์ ขณะเดียวกันศิษย์ก็อาจเติมเต็มส่วนนี้ให้แก่ครูเช่นเดียวกัน เป็นไปตามทฤษฎีข้างต้นที่บอกว่า เรารู้กันคนละอย่าง
            2) เติมเต็มประสบการณ์  ครูมิใช่เป็นผู้เติมเต็มเฉพาะความรู้เท่านั้นแต่ครูจะต้องเติมเต็มประสบการณ์ให้แก่ศิษย์ด้วย ประสบการณ์ที่ครูถ่ายทอดให้แก่ศิษย์จะเป็นประโยชน์อย่างมาก และอาจมากกว่าความรู้ด้วยซ้ำไป ครูจึงไม่ควรหวงประสบการณ์ แต่ควรเติมในส่วนที่ศิษย์ยังขาดอยู่ และศิษย์ก็มีส่วนช่วยเติมในส่วนที่ครูขาดอยู่เช่นเดียวกัน
            3) เติมเต็มสติปัญญา  ครูได้ชื่อว่าเป็นผู้จุดประกายสติปัญญาให้แก่ศิษย์ ให้ศิษย์คิดเป็น ทำเป็น และรู้จักใช้สติปัญญาไปในทางที่ถูกต้อง และครูยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เติมเต็มสติปัญญาให้แก่ศิษย์อีกด้วย เนื่องจากพัฒนาการของสติปัญญานั้นจำต้องอาศัยแบบฝึกหัดต่างๆจากครู เพื่อสติปัญญาจะได้รับการพัฒนาไปสู่จุดที่สมบูรณ์ และสุกงอมที่สุด


 
            ครู  คือ  ผู้มีเมตตา...ความเมตตาเป็นคุณธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งของครูที่จะขาดเสียมิได้ ครูที่สอนศิษย์ด้วยความเมตตาจะอยู่ในดวงใจของศิษย์ทุกคน
            1) เมตตาต่อศิษย์  ครูควรมีเมตตาต่อศิษย์ทุกคน และควรถือว่าศิษย์ทุกคนเป็นเสมือนลูก เสมือนหลาน ความเมตตาที่มีต่อศิษย์จะทำให้ครูมีความกระตือรือร้นในการสอน และสอนด้วยความสุข เพราะในดวงจิตของครูมีแต่ความปรารถนาดีที่ต้องการให้ศิษย์มีความรู้ และมีอนาคตที่ดีในภายภาคหน้า ครูที่มีเมตตาจะพูดกับศิษย์ด้วยคำพูดที่มีความไพเราะสุภาพ และอ่อนโยน และจะให้กำลังใจศิษย์อยู่เสมอ
            2) เมตตาต่อญาติ  ครูควรมีเมตตาต่อญาติพี่น้องด้วยการช่วยเหลือ อนุเคราะห์ และสนับสนุนให้ทุกคนมีการศึกษา มีความก้าวหน้าในชีวิต และการงาน และช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทบาดหมางระหว่างเครือญาติ การมีเมตตาต่อญาติพี่น้อง จะทำให้ครูเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์และของคนทุกคน
            3) เมตตาต่อมิตร  โดยธรรมชาติของอาชีพครู ครูจะมีแต่ผู้ที่เป็นมิตร ทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จัก ดังนั้นครูจึงต้องมีเมตตาต่อมิตรทุกคน ด้วยการช่วยเหลือ การให้คำแนะนำ และอื่นๆ ตามอัตภาพ การมีเมตตาต่อมิตรจะบ่งบอกถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีของครู ทำให้ครูเป็นที่รักและเคารพแก่ศิษย์ แก่บุคคลทั่วไป
            4) เมตตาต่อศัตรู  การมีเมตตาต่อศัตรูถือเป็นคุณธรรมขั้นสูงที่ครูทุกคนพึงมี เนื่องจากครูเป็นปูชนียบุคคล หมายความว่าเป็นบุคคลที่น่านับถือ ที่สำคัญคือครูเป็นตัวอย่างที่ดีของศิษย์ หากครูเป็นคนวู่วาม ใจร้อน และชอบผูกพยาบาท ครูก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ได้  การมีเมตตาต่อศัตรู คือการไม่โกรธ ไม่ผูกพยาบาท และการให้อภัย ซึ่งทั้งหมดเป็นคุณธรรมอิสลามที่ท่านนบีได้ทำเป็นแบบอย่างไว้แล้วทั้งสิ้น
            5) เมตตาต่อคนทุกคน  เมื่อครูคือผู้ที่มีหน้าที่อบรมสั่งสอน ครูจึงต้องมีความเมตตาต่อคนทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะบทบาทของครูคือบทบาท ของอุละมาอฺ (ผู้รู้) ในการเผยแพร่ เป็นบทบาทเดียวกับท่านนบี (ซ.ล.) ที่ถูกส่งมาเพื่อเป็นความเมมตาต่อชาวโลกทั้งมวล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น